Ad Code

Responsive Advertisement

การย้ายฮาร์ดดิสก์จาก QNAP NAS เครื่องเก่าไปยังเครื่องใหม่


เราได้รับการสอบถามจากผู้ใช้งาน QNAP NAS ในหลายครั้งเกี่ยวกับความต้องการย้ายฮาร์ดดิสก์จาก NAS เครื่องเก่าไปยังเครื่องใหม่ หลายเหตุผลด้วยกันเช่น เครื่องเดิมที่ใช้งานอยู่ใช้งานมาหลายปีแล้ว อยากเป็นรุ่นใหม่ที่มีซีพียูและหน่วยความจำที่สูงขึ้น และเป็นรุ่นที่เก่าที่ไม่สามารถอัพเดทระบบปฏิบัติการ QTS รุ่นล่าสุด ทำให้ไม่สามารถใช้ฟังก์ชั่น หรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆได้  อันนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่สามารถวางแผนการย้ายฮาร์ดดิสก์ไปเครื่องใหม่ได้


ในขณะที่มีผู้ใช้งานอีกกลุ่มหนึ่งจำเป็นต้องย้ายฮาร์ดดิสก์ เนื่องจาก NAS เครื่องที่ใช้งานอยู่ได้รับความเสียหายทางฮาร์ดแวร์ทำให้ไม่สามารถบู๊ตเครื่องได้ เช่นเมนบอร์ดเสีย หน่วยความจำแฟลชเสีย แบ็คเพลนเชื่อมต่อฮาร์ดดิสก์เสีย สาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากการปิดเครื่องไม่ถูกวิธี ไม่ผ่านการชัตดาวน์ ไฟตก ไฟกระชาก ไฟฟ้าดับบ่อยๆ และไม่ได้มีเครื่องสำรองไฟป้องกันเอาไว้  กลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า การย้ายฮาร์ดดิสก์ไป NAS เครื่องใหม่สำหรับกลุ่มนี้ ค่อนข้างจะยุ่งยากพอสมควร


สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ QTS ที่ใช้ใน QNAP NAS นั้นออกแบบมาใช้สำหรับซีพียูของ Intel , AMD หรือ ARM Architecture ซึ่งอาจไม่เหมือนกันนัก ถ้าย้ายข้ามค่ายก็ต้องมีการอัพเดทเฟิร์มแวร์ให้ตรงกับฮาร์ดแวร์ของรุ่นนั้น ทาง QNAP จึงอำนวยความสะดวกให้เราโดยทำการตรวจสอบความเข้ากันได้ในการย้ายเครื่อง NAS Migration Compatibility เพื่อให้เราตรวจสอบว่าการย้าย QNAP NAS จากรุ่นเก่า ไปเป็นรุ่นใหม่ รุ่นไหนได้บ้าง จึงแนะนำให้เข้าไปตรวจสอบก่อนเสมอ



ขั้นตอนต่อไป ก็ให้ทำการตรวจสอบการใช้งานของ QNAP NAS เครื่องเก่าว่าใช้ทรัพยากรและแอพพลิเคชั่นอะไรบ้าง 

- ฮาร์ดดิสก์ทำ RAID หรือไม่ เป็นแบบไหน และมีกี่ RAID Group

- มี Volume ที่เป็น Legacy Volume คือโวลุ่มที่ถูกสร้างซึ่งในก่อนระบบปฏิบัติการ QTS 4.0 หรือไม่  ถ้ายังมีอยู่ก็แนะนำให้ อัพเกรดก่อน เพราะ Legacy Volume จะไม่รองรับการทำงานใหม่ในหลายๆฟังก์ชั่น โดยเฉพาะการทำสแนปชอต  

- มีการใช้งาน Qtier หรือ SSD Cache Acceleration หรือไม่

- มีการใช้งาน Virtual Machine VMWare หรือไม่

- มีการใช้งาน myQNAPcloud, MySQL  หรือไม่

- มีการใช้งานเน็ตเวิร์คแบบ Port Trunking หรือ Virtual Switch หรือไม่ 

- หากมีการซื้อไลเซนส์กล้องวงจรปิดเพิ่ม โปรแกรมจาก 3'rd Party เช่น Antivirus, Team ต้องทำการย้ายไลเซนส์ก่อน

- หากมีการใช้งาน Virtual Machine, SSD Cache หรือ Snapshot ต้องพิจารณาด้วยว่า NAS เครื่องใหม่มีหน่วยความจำมากพอที่จะรองรับการทำงานฟังก์ชั่นเหล่านี้ 

ค่าติดตั้งใช้งานเหล่านี้ ต้องมีการบันทึก หรือ สำรองข้อมูลไว้เสมอ เพราะหลังการย้าย ฟังก์ชั่นและแอพพลิเคชั่นบางอย่างต้องมีการติดตั้งหรือกำหนดค่าใหม่ เพื่อให้การย้ายฮาร์ดดิสก์ เป็นไปด้วยความราบรื่น และใช้งานได้อย่างรวดเร็ว


เตรียมพร้อมสำหรับการย้ายฮาร์ดดิสก์ไปยัง QNAP NAS เครื่องใหม่

1) สำรองข้อมูลไว้เสมอ (Backup!!) 

เราแนะนำผู้ใช้งานให้สำรองข้อมูลไว้มากกว่า 1 สำเนาอยู่เสมอ ตามแนวทาง 3-2-1 Backup Rule

หากยังไม่ได้สำรองข้อมูล และยังสามารถใช้งาน QNAP NAS ได้ ขอแนะนำให้ดำเนินการ ก่อนเริ่มกระบวนการย้ายฮาร์ดดิสก์

สำหรับผู้ใช้งานที่เครื่องเสียไปแล้วและไม่ได้สำรองข้อมูลไว้ หากทำความเข้าใจขั้นตอนในบทความนี้ ก็สามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้

แต่หากมีความเข้าใจไม่มากนัก ก็แนะนำให้ติดต่อศูนย์บริการลูกค้า QNAP Thailand เพื่อขอคำแนะนำ


2) ใส่ฮาร์ดดิสก์ หรือ ถอดฮาร์ดดิสก์  (Shutdown!!)

ในกระบวนการย้ายฮาร์ดดิสก์จาก NAS เครื่องเก่าไปยังเครื่องใหม่  ต้องมีการปิดเครื่อง Shutdown ก่อนเสมอ ทั้งการใส่เข้า หรือ ถอดออกห้ามทำตอนเครื่องเปิดอยู่ ไม่อย่างนั้นแล้วระบบการทำงานของ NAS จะสับสนว่าเราต้องการจะทำอะไร 


การใส่ฮาร์ดดิสก์หรือถอดฮาร์ดดิสก์ตอนเครื่องเปิดอยู่ จะใช้สำหรับการเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ลูกที่เสียออกแล้วใส่ฮาร์ดดิสก์ดีเข้าไปแทน อันนั้นเป็นกระบวนการ Rebuilding RAID เป็นคนละวัตถุประสงค์นะครับ  



3) การเรียงลำดับฮาร์ดดิสก์ ก็มีความสำคัญ

การย้ายฮาร์ดดิสก์จาก NAS เครื่องเก่าไปยังเครื่องใหม่  ต้องย้ายไปทั้งหมด นั่นคือเครื่องใหม่จะต้องมีช่องรองรับฮาร์ดดิสก์ที่เพียงพอ จะเท่ากันหรือมากกว่าก็ได้ และแนะนำให้เรียงฮาร์ดดิสก์ในตำแหน่งเดิมที่เคยอยู่ แม้ว่าเฟิร์มแวร์รุ่นใหม่จะมีความสามารถจำและย้ายตำแหน่งได้ แต่หากเป็นเฟิร์มแวร์รุ่นเก่าๆยังไม่มีความสามารถนี้หรือมี Legacy Volume อยู่ด้วยก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ จึงแนะนำให้เรียงลำดับไว้จะปลอดภัยกว่า


4) อัพเดทเฟิร์มแวร์

เพื่อการย้ายฮาร์ดดิสก์อย่างราบรื่น แนะนำให้มีการอัพเดทเฟิร์มแวร์ทั้งเครื่องเก่าและเครื่องใหม่ ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด

4.1 QNAP NAS เครื่องเก่าให้อัพเดทเฟิร์มแวร์ก่อนหากทำได้ ในกรณีเครื่อง NAS เสียไปแล้วไม่สามารถทำได้ ก็ข้ามขั้นตอนนี้ไป

เปิด Control Panel --> Firmware Update --> Check for Update  

หากเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่แล้วจะขึ้น  The firmware is up to date  หากมีใหม่กว่าก็ให้ทำการอัพเดท

เมื่อทำการอัทเดทเสร็จแล้วให้ Shutdown เครื่อง จนเครื่องดับสนิทดี จึงถอดฮาร์ดดิสก์ออกมาได้  


4.2 QNAP NAS เครื่องใหม่ ที่เป็นเครื่องที่เราจะย้ายฮาร์ดดิสก์ไป ก็แนะนำให้ อัพเดทเฟิร์มแวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดด้วย ให้ทำตามขั้นตอนนี้ดังนี้

- เปิด QNAP NAS เครื่องใหม่ โดยไม่ต้องมีฮาร์ดดิสก์ 

- เมื่อเครื่องพร้อมทำงานแล้ว ใช้โปรแกรม Qfinder Pro ค้นหา

- เมื่อโปรแกรมสแกนเจอเครื่อง NAS จะมีหน้าต่างถามว่า เราจะตั้งค่าการใช้งานเริ่มต้น NAS หรือไม่  ให้ปิดหน้าต่างนี้ไปเลย หรือถ้ามีหน้าต่างอื่นๆอีกก็ให้ปิดไป เพราะเราต้องการอัพเดทเฟิร์มแวร์ ผ่านเมนูของ Qfinder Pro เท่านั้น

- หน้าต่างของ Qfinder Pro ให้เลือกแถบของ QNAP NAS ที่เราต้องการ ที่เมนูด้านบน ให้เลือก

Tools --> Update Firmware --> หากมีเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นใหม่ ให้กด Start แล้วรอให้ดำเนินการจนเสร็จสิ้น สังเกตุสถานะการทำงานที่ Progress ให้ถึง 100% และ Status จะบอกสถานะว่า Restarting

รอจนเครื่องรีสตาร์ทจนเสร็จ ขึ้นสถานะพร้อมทำงาน ให้ทำการ Shutdown เครื่อง


5) ย้ายฮาร์ดดิสก์จาก NAS เครื่องเก่าไปยังเครื่องใหม่

ถึงขั้นตอนนี้ เราก็สามารถนำฮาร์ดดิสก์ไปใส่ในเครื่องใหม่ได้แล้ว ขอเน้นขั้นตอนนี้อีกครั้ง

        - QNAP NAS ปิดอยู่

        - ใส่ฮาร์ดดิสก์เข้าไป โดยเรียงในลำดับเดิม

        - เปิดเครื่อง เริ่มทำงาน


หากทำตามขั้นตอนนี้แล้ว บัญชีผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และข้อมูลต่างๆ จะกลับมา พร้อมให้เราใช้งานเหมือนเครื่องเดิมเลย เมือถึงจุดนี้ หากเรายังไม่มีข้อมูลสำรองไว้ แนะนำให้รีบทำตอนนี้เลย

แอพพลิเคชั่นพื้นฐานโดยส่วนใหญ่ก็จะกลับมาทำงานตามปกติ จะมีบางอย่างที่ต้องเข้าไปตรวจสอบและแก้ไขเพื่อให้ทำงานได้ตามปกติต่อไป โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็น myQNAPcloud, mySQL, Network & Virtual Switch  และ Backup Job บางโปรโตคอลที่อาจหยุดการทำงาน หากเรามีบันทึกไว้ ก็สามารถตามไปแก้ไขให้กลับมาทำงานเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว  




Close Menu